เรื่องของเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาลเศรษฐา ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะเมื่อวานนี้ (19 ต.ค.) ที่มีกระแสขึ้นมาจากกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทวีตข้อความเปิดเผยว่า พบงานวิจัยจากญี่ปุ่น ที่เป็นต้นกำเนิดของดิจิทัลวอลเล็ต และบ่งชี้ว่า นโยบายลักษณะนี้กระตุ้นการซื้อสินค้าบริการได้น้อย
โดยงานวิจัยดังกล่าว พูดถึง “นโยบายแจกคูปองซื้อของ” ที่ประเทศญี่ปุ่นนำมาใช้เมื่อปี 1999 เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างหนัก
“ศิริกัญญา” เผยต้นแบบดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นกำลังซื้อน้อย! คำพูดจาก เกมสล็อตเว็บแท้
ไม่จำเป็นต้องสร้าง ซูเปอร์แอปฯ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
ป.ป.ช. จับตา นโยบายเงินดิจิทัล 1 หมื่น ยกเป็นวาระตรวจสอบเร่งด่วน!
เท้าความก่อนว่า ช่วงปี 1990 ญี่ปุ่นเจอปัญหาภาวะฟองสบู่แตก และในช่วงกลางปี 1992 มูลค่าหุ้นในตลาดร่วงดิ่งลงกว่า 60% ปีถัดมาราคาที่ดินเริ่มลดลงเรื่อย ๆ กระทั่งเศรษฐกิจถดถอยลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในช่วงปี 1998 เนื่องจากทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนในภาคธุรกิจต่างลดลง จนได้ชื่อว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่ที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยทีเดียว
ปัญหาประการหนึ่งก็คือ ประชาชนทั่วไปมีความกังวลเกี่ยวกับอนาคตมากจนเลือกที่จะออมเงินเยนมากกว่าจะใช้จ่าย ซึ่งรัฐบาลได้พยายามออกนโยบายลดหย่อนภาษีแล้ว แต่ประชาชนก็มักเลือกจะประหยัดเงินเช่นกัน
จากสภาวะดังกล่าว ทำให้ โอบุจิ เคโซ นายกรัฐมนตรีจากพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ในขณะนั้น ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร กระทั่งพรรคโคเมใหม่ (New Komei) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลสายพุทธ ได้เสนอโครงการคูปองซื้อของขึ้นมา โดยจะเปิดให้ครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือผู้สูงอายุมากกว่า 65 อยู่ในบ้าน สามารถรับคูปองไปซื้อสินค้าบริการได้
พรรค LDP ยอมรับแนวคิดดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งคือต้องการเอาใจพรรคโคเมใหม่ให้เป็นพันธมิตรที่สำคัญ อีกส่วนมองว่า นโยบายดังกล่าวน่าจะเป็นช่องทางในการช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งเป็นฐานสนับสนุน LDP ที่สำคัญได้ รวมถึงจะทำให้เกิดการจับจ่ายจริง เพราะประชาชนไม่สามารถเอาคูปองไปแลกเงินสดเพื่อเก็บไว้เฉย ๆ ได้ รวมถึงมีวันหมดอายุด้วย
เมื่อผ่านกระบวนการเห็นชอบ ลงมติเสร็จสรรพ ก็ทำให้เมืองและหมู่บ้านทั้งหมด 3,255 แห่งในญี่ปุ่นสามารถออกคูปองได้ ซึ่งคูปองนี้ใช้ได้เฉพาะภายในเขตของตนเท่านั้น ผู้บริโภคสามารถใช้คูปองในการซื้ออะไรก็ได้ ตั้งแต่เสื้อผ้า เบียร์ หรือเข้าร้านตัดผม หรือบางจังหวัดก็ระบุว่าสามารถใช้ในเลิฟโฮเตลได้ด้วย
สำหรับ โครงการแจกคูปองซื้อของของญี่ปุ่นปี 1999 มีลักษณะดังนี้:
- แจกคูปองซื้อของมูลค่า 20,000 เยน ซึ่ง ณ เวลานั้นมีค่าประมาณ 6,100 บาท
- แจกให้กับทุกครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยแจก 1 ใบต่อเด็ก 1 คน
- แจกให้ประชากรผู้สูงอายุที่เข้าข่ายรับสิทธิ คือ ไม่เป็นผู้รับเงินบำนาญสวัสดิการวัยชรา เงินบำนาญสำหรับผู้ทุพพลภาพขั้นพื้นฐาน เงินบำนาญขั้นพื้นฐาน เงินบำนาญแม่และเด็ก เงินบำนาญเด็กที่เสียชีวิต เงินสงเคราะห์ครอบครัวเด็ก เงินสงเคราะห์เด็กพิการ เงินช่วยเหลือด้านสวัสดิการ หรือผู้พักอาศัยในสถาบันสวัสดิการสังคม หรือ 2) มีอายุเกิน 65 ปี และไม่มีภาระภาษีในปี 1997-1998 ซึ่งทั้งหมดนี้คิดเป็น 56% ของประชากรสูงอายุในญี่ปุ่น ณ ขณะนั้น
- รวมแจกให้ประชาชนทั้งหมด 31 ล้านคน รวมมูลค่า 6.2 แสนล้านเยน (ประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ณ เวลานั้น)
- คูปองต้องใช้ในชุมชนท้องถิ่นของผู้รับสิทธิเท่านั้น
- หมดอายุภายใน 6 เดือน (เริ่มแจก มี.ค. 1999 หมดอายุ ก.ย. 1999)
เมื่อเทียบกันแล้วจะพบว่า มีบางส่วนที่คล้ายกับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของไทย ซึ่งมีลักษณะดังนี้:
- แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านซูเปอร์แอปฯ
- แจกให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป
- รวมจะมีผู้ได้รับสิทธิราว 50 ล้านคน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 5.4 แสนล้านบาท
- สามารถใช้ได้ในพื้นที่ 4 กม. (แต่กำลังพิจารณาขยายขอบเขตพื้นที่)
- มีอายุการใช้งาน 6 เดือนนับจากวันที่เริ่มโครงการเช่นกัน
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์รวมถึงประชาชนบางส่วนในเวลานั้น ไม่มีความเชื่อมั่นเท่าไรนักต่อนโยบายคูปองซื้อของนี้ มีเพียงไม่กี่คนที่เชื่อว่าแผนดังกล่าวจะประสบความสำเร็จอย่างมาก บางคนกล่าวว่า ผู้บริโภคจะใช้คูปองและประหยัดเงินในจำนวนที่เท่ากัน ซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยอะไร บางคนถึงกับเรียกว่านี่เป็น “ความพยายามอันแปลกประหลาด”
ปีเตอร์ เจ. มอร์แกน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ HSBC James Capel Japan กล่าวไว้เมื่อปี 1999 ว่า จำนวนเงินที่ผูกพันกับแผนนี้มีค่าเท่ากับเพียง 0.13% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) “ไม่มีทางที่สิ่งนี้จะมีผลกระทบใด ๆ แม้ว่าคูปองจะหมดไปแล้วก็ตาม”
ขณะที่ศูนย์วิจัย Nikko คาดว่า โครงการนี้จะเพิ่ม GDP ได้สูงสุดเพียง 0.06% เท่านั้น
เคธี มัตสึอิ หัวหน้านักยุทธศาสตร์ของบริษัท Goldman Sachs Japan มองว่า แทนที่จะใช้มาตรการระยะสั้น ญี่ปุ่นควรใช้เงินเพื่อประคองเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมที่อ่อนแอในช่วงเวลาที่บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องลดเงินเดือนมากกว่า “ญี่ปุ่นควรวางโครงการเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างองค์กร”
แต่แน่นอนว่าเมื่อมีคนคัดค้านก็ต้องมีคนสนับสนุน เช่น คิตะซาโตะ โทชิอากิ ผู้อำนวยการวางแผนนโยบายของกระทรวงมหาดไทยญี่ปุ่น มองว่า คูปองซื้อของทำให้เกิดกิจกรรมส่วนลดและส่งเสริมการขายต่าง ๆ ที่ผู้ค้าในท้องถิ่นใช้เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการนี้ “เรื่องแบบนี้คงไม่เกิดขึ้นกับมาตรการอื่นเช่นการลดภาษี … ในมุมมองของเรา นโยบายนี้มีผลมากกว่าการลดหย่อนภาษีก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้คนมักจะประหยัด”
นอกจากนี้ แผนดังกล่าวยังเป็นฝันร้ายด้านลอจิสติกส์ และมีค่าใช้จ่ายสูงในการจัดการ รัฐบาลยังเลือกผูกมัดคูปองไว้กับพื้นที่ ให้ใช้ได้เพียงในเมืองหรือหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เท่านั้น
เพื่อเพิ่มธุรกิจในท้องถิ่น รัฐบาลยังได้ให้แต่ละเมืองและเทศบาลหาเครื่องพิมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสีย้อม และผู้ผลิตกระดาษของตนเอง เพื่อผลิตคูปองท้องถิ่นของตน ดังนั้นคูปองบางอันจึงเป็นสีชมพู บางอันเป็นสีฟ้า บางอันเป็นสีขาว บางอันเป็นสีครีม
ท้องถิ่นยังสามารถกำหนดกฎเกณฑ์ของตนเองตามแนวทางได้ ดังนั้นคูปองบางส่วนสามารถใช้ได้ที่สถานบริการทางเพศและไนต์คลับ หรือเล่นการพนันที่ร้านปาจิงโกะและโต๊ะไพ่นกกระจอก แต่บางพื้นที่ก็สามารถใช้ได้เฉพาะในสถานที่ที่ทางการเห็นว่าเหมาะสมเท่านั้น เช่น ร้านค้าและร้านอาหาร
ในบางพื้นที่ ทางการได้พยายามช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กโดยบังคับให้ประชาชนรอ 40 วันจึงจะสามารถใช้คูปองที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ได้ ในขณะที่บางแห่งมีคูปองรหัสสีที่จำกัดการใช้จ่ายครึ่งหนึ่งในร้านค้าใหญ่เพื่อประกันว่า อีกครึ่งหนึ่งจะใช้จ่ายในร้านค้ารายย่อย
โครงการคูปองซื้อของถูกมองอย่างกว้างขวางว่าประสบความสำเร็จเล็กน้อยในการกระตุ้นการใช้จ่าย ทำให้ในปี 2009 หรือ 10 ปีต่อมา ญี่ปุ่นได้ดำเนินโครงการที่คล้ายกัน โดยคราวนี้มอบคูปองมูลค่า 12,000 เยนแก่พลเมืองทุกคนโดยไม่คำนึงถึงอายุหรือรายได้ และเพิ่มอีก 8,000 เยนสำหรับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีหรือมากกว่า 65 ปี แม้แต่ไต้หวันเอง ก็แจกคูปองมูลค่าประมาณ 120 ดอลลาร์สหรัฐให้กับพลเมืองทุกคนในเดือนกุมภาพันธ์ 2009
แต่ทีมวิจัยหนึ่งเชื่อว่า โครงการแจกเป็นคูปองของญี่ปุ่นนั้น “ไม่ได้มีอะไรที่พิเศษเป็นพิเศษ” และได้ทำการศึกษาโครงการคูปองปี 1999 เพื่อแสดงให้เห็นว่า โครงการดังกล่าวสามารถกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
โดย ฉางไท่เซียะ จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ชิมิซึทานิ ซาโตชิ จากสถาบันเพื่อการศึกษานโยบายระหว่างประเทศ และโฮริ มาซาฮิโระ จากสำนักคณะรัฐมนตรี รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ดำเนินงานวิจัยที่มีชื่อว่า “Did Japan's shopping coupon program increase spending?” (โครงการคูปองซื้อของของญี่ปุ่นเพิ่มการใช้จ่ายได้หรือไม่?) ตีพิมพ์เมื่อปี 2010 ซึ่งเป็นตัวที่ น.ส.ศิริกัญญา นำมาโพสต์เมื่อวานนี้
โดยผลการศึกษาระบุว่า จากข้อมูลระดับครัวเรือนแสดงให้เห็นว่า โครงการคูปองสามารถกระตุ้นการบริโภคสินค้ากึ่งคงทน (แฟชั่น เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก อุปกรณ์กีฬา) ได้ 0.1-0.2 เท่า และมีผลเฉพาะช่วงเดือนแรก ๆ หลังได้รับคูปองเท่านั้น
ส่วนสินค้ากลุ่มไม่คงทน (ของอุปโภคบริโภคประจำวันที่ใช้แล้วหมดไป เช่น อาหารเครื่องดื่ม เชื้อเพลิง ฯลฯ) และกลุ่มบริการ (ร้านอาหาร ร้านตัดผม รักษาพยาบาล คมนาคม ฯลฯ) นั้น พบว่าได้รับการกระตุ้นจากโครงการแจกคูปองเลยในระดับน้อยมาก แทบไม่เห็นผล
นี่จึงทำให้บางคนเกิดคำถามว่า แล้วนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้านี้ จะเกิดผลอย่างเดียวกันกับญี่ปุ่นหรือไม่ แต่บ้างก็มองว่าบริบทและสถานการณ์ของญี่ปุ่นในเวลานั้นกับไทยในเวลานี้มีความแตกต่างกัน ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้
น.ส.ศิริกัญญาตอบในประเด็นดังกล่าวว่า “อย่างที่บอกว่า ไม่ต้องเชื่องานวิจัยก็ได้ งานวิจัยนี้ศึกษาเรื่องที่เกิดในปี 1999 แต่ศึกษาในปี 2009 แน่นอนว่าบริบทต่าง ๆ ก็ไม่เหมือนกัน”
น.ส.ศิริกัญญาบอกว่า “ที่เห็นว่าน่าสนใจเพราะว่า เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ทางคุณเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกมาโต้ ว่าโครงการนี้ไม่เหมือนโครงการอื่น ที่ IMF ศึกษาเรื่องตัวคูณทางการคลัง ก็เลยเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ พอไปเจอว่ามีอันนี้ที่เหมือนกันเลย ทั้งกำหนดเวลา การใช้ รัศมีการใช้ เราก็เลยเอามาให้ดูเฉย ๆ ก็ไม่ต้องเชื่อก็ได้ แล้วคุณมีงานวิจัยอะไรรองรับ ก็เอาออกมาให้เราดู ไม่เถียงว่าบริบทมันต่างกัน”
น.ส.ศิริกัญญาบอกอีกว่า “บางคนอาจบอกว่า เขาแจกแค่ 31 ล้านคน ของเราแจกทั้งหมด แต่ผลการศึกษามันก็บอกชัดเจนว่า เขาดูเฉพาะคนที่ได้รับ ว่าใช้จ่ายเงินยังไง เราไม่ได้ตีความอะไรเกินเลยว่านั้นว่ากระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ GDP ไม่โต เราไม่ได้พูดเรื่องพวกนั้นเลย”
เรียบเรียงจาก Bloomberg / New York Times / งานวิจัย “Did Japan's shopping coupon program increase spending?”
ภาพจาก Reuters
เรียกร้องถอดสัญชาติ เบนเซม่า ยึดบัลลงดอร์ หลังเชื่อมโยงกลุ่มก่อการร้าย
พยากรณ์ล่วงหน้า 24 ต.ค. – 2 พ.ย. ฝนปนอากาศเย็น นับถอยหลังฤดูหนาว!
อุตุฯ ประกาศฉบับที่ 6 พายุโซนร้อน “ซันปา”